ทำความรู้จัก อุตสาหกรรม 4.0

Share :

อุตสาหกรรม 4.0 คืออะไรและมีวิธีรับมืออย่างไร?

อุตสาหกรรม 4.0 สร้างการปฏิวัติการผลิตให้เพิ่มประสิทธิผล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และโอบอุ้มการเติบโตของอุตสาหกรรม

การก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยให้สามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลของเครื่องจักร ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตทำงานได้รวดเร็ว ยืดหยุ่น และสามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อุตสาหกรรม 4.0 สร้างการปฏิวัติการผลิตให้เพิ่มประสิทธิผล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และโอบอุ้มการเติบโตของอุตสาหกรรม แต่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ก็ได้สร้างการตื่นตัวเกี่ยวกับผลกระทบที่จะตามมา ซึ่งอาจส่งผลต่อแรงงานที่ต้องเตรียมพร้อมทั้งความรู้ ทัศนคติ รวมถึงทักษะที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ได้

ทำความรู้จักกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรม 4.0 เป็นชื่อที่ได้จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งในแต่ละครั้งจะมีการดึงเอาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งกระบวนการผลิต เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์และแรงงานที่เปลี่ยนไป

การปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตและระบบการผลิต จากจุดเริ่มต้นที่ผลิตกันในรูปแบบของพ่อค้าที่เป็นนายทุน จัดหาวัตถุดิบมาจ้างให้แรงงานผลิตด้วยฝีมือและใช้เครื่องมือแบบง่ายๆ เมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิตจึงหันมาใช้เครื่องจักรกลแทนแรงงานคน ตั้งแต่งานผลิตง่ายๆ ไปจนถึงการผลิตที่มีรูปแบบซับซ้อน กลายมาเป็นการผลิตในรูปแบบโรงงาน (Factory System)

สู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

หลังจากที่มีการเปลี่ยนเข้าสู่การกระบวนการผลิตจากช่างฝีมือไปสู่รูปแบบโรงงาน ก็มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาแล้ว 4 ครั้ง โดยเริ่มจาก

  • การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 เป็นยุคที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำจากพลังงานถ่านหินในระบบรถไฟและโรงงาน แรงงานเปลี่ยนจากเกษตรกร ช่างฝีมือ เข้าสู่การทำงานในโรงงานขนาดเล็ก
  • การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ยุคพลังงานใหม่จากน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า การผลิตเป็นระบบสายพานที่เน้นการผลิตแบบ Mass Production ในปริมาณมากและรวดเร็ว แรงงานเข้ามาทำงานในระบบโรงงานที่ใหญ่มากขึ้น
  • การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 มีการนำเอา IT (Information Technology) และคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรม ทำให้เกิดเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ แรงงงานบางส่วนจึงถูกหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนที่
  • การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Industry4.0) เป็นการนำเอาโลกของการผลิต มาเชื่อมต่อกับเครือข่ายในรูปแบบ IoT (Internet of Things) ซึ่งทำให้กระบวนการผลิตสินค้าเชื่อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล การนำสินค้าไปเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี รวมไปถึงการทำงานของแรงงานที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยให้งานผลิตสำเร็จได้รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น

เทคโนโลยีที่มาพร้อมกับยุคอุตสาหกรรม 4.0

มีเทคโนโลยีระดับสูงหลากหลายรูปแบบที่เคยถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแล้ว แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติครั้งที่ 4 เทคโนโลยีเหล่านี้จึงมาพร้อมกับความสามารถที่สูงมากขึ้นจากการใส่ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ทำให้สามารถดึงศักยภาพของกระบวนการผลิตและโซ่อุปทานได้มากขึ้นจากการทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์และมนุษย์

8 เทคโนโลยีที่มาพร้อมกับอุตสาหกรรม 4.0

1. Big Data and Advanced Analytics คลังข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลระดับสูง ที่ช่วยให้แต่ละอุตสาหกรรมสามารถนำเอาคลังข้อมูลขนาดใหญ่ที่เคยเก็บเอาไว้มาใช้งานเพื่อวิเคราะห์การทำงานและวางแผนระบบได้

2. Autonomous Robots หุ่นยนต์อัตโนมัติที่สามารถเรียนรู้การทำงานของมนุษย์และทำงานร่วมกับมนุษย์ ช่วยให้สามารถทำงานได้ปริมาณมากขึ้น ประหยัดเวลา และลดความผิดพลาดของการทำงานได้มากขึ้น

3. Simulation การสร้างแบบจำลอง เพื่อทดสอบและนำไปวางแผนปรับเปลี่ยนการตั้งค่าของเครื่องจักรให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

4. Horizontal and Vertical System Integration การเชื่อมโยงกระบวนการทางธุรกิจทั้งภายในและภายนอก ด้วยการปรับเปลี่ยนแนวคิดและแนวทางของธุรกิจโดยเน้นการสร้างคุณค่าและประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ

5. Industrial Internet of Thingsการทำงานร่วมกันของเครื่องจักร ผ่านระบบรวมศูนย์กลางการควบคุมไว้ที่เดียวกัน ช่วยให้สามารถวิเคราะห์การทำงาน การตัดสินใจ และโต้ตอบได้แบบเรียลไทม์

6. Cybersecurity เมื่อมีการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้ากับระบบอิเล็คทรอนิกส์ จึงจำเป็นต้องมีระบบความปลอดภัยสำหรับระบบการผลิตและสายการผลิต ให้มีความปลอดภัยและการสื่อสารที่น่าเชื่อถือ

7. Cloud การเชื่อมต่อคลังข้อมูลที่ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงได้ผ่านการการแชร์ในระบบ Cloud ที่สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา ช่วยให้รับรู้ข้อมูลการทำงานของเครื่องจักรกลที่อัปเดตอยู่เสมอ

8. Additive Manufacturing การผลิตสารเติมแต่งที่เดิมทีแล้วใช้กับระบบการพิมพ์ 3 มิติเพื่อสร้างโมเดล เมื่อก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 การผลิตสารเติมแต่ง ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ในการหาวัสดุทดแทนต่างๆ เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีน้ำหนักเบา แต่ยังคงคุณภาพและความแข็งแรงเอาไว้

การรับมือการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ในไทย

การปฏิวัติเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเปลี่ยนจากการใช้แรงงานในอุตสาหกรรม ไปสู่การใช้นวัตกรรม ซึ่งจะยังไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในทันที แต่จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามความพร้อมของแต่ละอุตสาหกรรม

สิ่งควรเตรียมรับมือให้พร้อม คือในเรื่องของแรงงานที่จะมีเทคโนโลยีเข้ามาทำงานทดแทนแรงงาน ทำให้การเตรียมพร้อมในทักษะของแรงงานจะต้องสอดคล้องไปกับการพัฒนาของเทคโนโลยีด้วย เพื่อให้สามารถพัฒนาฝีมือและแข่งขันกับตลาดแรงงานในต่างประเทศได้

โดยการเตรียมพร้อมคนกำลังจะเริ่มทำงานใหม่ และใส่ใจคนทำงานเดิม ผ่านทักษะแรงงานที่จำเป็นในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้แก่

  • การคิดวิเคราะห์ การคิดเชิงลึก สังเคราะห์ข้อมูลที่หลากหลาย
  • การแก้ไขปัญหา
  • ความคิดสร้างสรรค์
  • การทำงานร่วมกับสังคม
  • วุฒิภาวะทางอารมณ์

ปฏิรูปตั้งแต่การผลิตแรงงานของสถานศึกษา

เมื่ออุตสาหกรรมในอนาคตกำลังจะเปลี่ยนไป สถานศึกษาต้องมุ่งสร้างแรงงานให้มีคุณสมบัติที่พร้อมกับการทำงานร่วมไปกับเทคโนโลยี ซึ่งได้แก่

1. เรียนรู้ใหม่ได้ตลอดชีวิต
การเรียนรู้จะไม่ใช่การเรียนจบแล้วออกไปทำงาน แต่ผู้ที่ออกมาทำงานแล้วจะต้องเรียนรู้และพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และต้องมีความรู้พื้นฐานที่เข้มแข็ง กล่าวคือต้องไม่หยุดที่จะเปิดรับการเรียนรู้สิ่งใหม่

2. มีความคิดสร้างสรรค์
สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ จากการได้ฝึกเป็นคนที่ช่างคิดวิเคราะห์ ชอบตั้งคำถาม รวมไปถึงแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์

3. เข้าใจการทำงานของเทคโนโลยี
ทุกสิ่งในยุค 4.0 ทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้ข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ นั้นถูกทำลายลง ซึ่งการเข้าใจระบบการทำงาน รวมถึงการเปิดรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอยู่เสมอเป็นสิ่งที่จำเป็น

4. ทักษะด้านอารมณ์และ Soft Skills
การพัฒนาทักษะให้สามารถทำงานร่วมกับสังคม รวมถึงการเข้าสังคมได้ดี นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาตนเองให้มองโลกในแง่บวก เพื่อให้สามารถทำงานได้ดีในโลกอุตสาหกรรมยุคใหม่

การก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่ไม่ใช่เพียงภาคอุตสาหกรรมและแรงงานที่ต้องเตรียมพร้อมเท่านั้น แต่ทางภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา สถานประกอบการ และประชาชน ก็ต้องมีทั้งความรู้ ทัศนคติ ทักษะที่ดี เพื่อพร้อมต่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคของเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยในอนาคตอันใกล้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.tot.co.th

Relate Post

The UR30 Heavy payload, compact cobot

The UR30 can lift heavy payloads while maintaining a compact footprint in a collaborative setting. With a 30 kg lifting capacity and a 1300 mm reach this robot can tend larger machines, palletize heavy products, and effectively support high torque screw driving.

อ่านต่อ »

By clicking “Accept”, you agree to the storing of cookies on your device to enhance site navigation, analyze site usage, and assist in our marketing efforts. Privacy Policy

Privacy Preferences

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save