อุตสาหกรรม 4.0 คืออะไรและมีวิธีรับมืออย่างไร?
อุตสาหกรรม 4.0 สร้างการปฏิวัติการผลิตให้เพิ่มประสิทธิผล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และโอบอุ้มการเติบโตของอุตสาหกรรม
การก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยให้สามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลของเครื่องจักร ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตทำงานได้รวดเร็ว ยืดหยุ่น และสามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อุตสาหกรรม 4.0 สร้างการปฏิวัติการผลิตให้เพิ่มประสิทธิผล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และโอบอุ้มการเติบโตของอุตสาหกรรม แต่การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ก็ได้สร้างการตื่นตัวเกี่ยวกับผลกระทบที่จะตามมา ซึ่งอาจส่งผลต่อแรงงานที่ต้องเตรียมพร้อมทั้งความรู้ ทัศนคติ รวมถึงทักษะที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ได้
ทำความรู้จักกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรม 4.0 เป็นชื่อที่ได้จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งในแต่ละครั้งจะมีการดึงเอาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งกระบวนการผลิต เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์และแรงงานที่เปลี่ยนไป
การปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตและระบบการผลิต จากจุดเริ่มต้นที่ผลิตกันในรูปแบบของพ่อค้าที่เป็นนายทุน จัดหาวัตถุดิบมาจ้างให้แรงงานผลิตด้วยฝีมือและใช้เครื่องมือแบบง่ายๆ เมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิตจึงหันมาใช้เครื่องจักรกลแทนแรงงานคน ตั้งแต่งานผลิตง่ายๆ ไปจนถึงการผลิตที่มีรูปแบบซับซ้อน กลายมาเป็นการผลิตในรูปแบบโรงงาน (Factory System)
สู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
หลังจากที่มีการเปลี่ยนเข้าสู่การกระบวนการผลิตจากช่างฝีมือไปสู่รูปแบบโรงงาน ก็มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาแล้ว 4 ครั้ง โดยเริ่มจาก
- การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 เป็นยุคที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำจากพลังงานถ่านหินในระบบรถไฟและโรงงาน แรงงานเปลี่ยนจากเกษตรกร ช่างฝีมือ เข้าสู่การทำงานในโรงงานขนาดเล็ก
- การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ยุคพลังงานใหม่จากน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า การผลิตเป็นระบบสายพานที่เน้นการผลิตแบบ Mass Production ในปริมาณมากและรวดเร็ว แรงงานเข้ามาทำงานในระบบโรงงานที่ใหญ่มากขึ้น
- การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 มีการนำเอา IT (Information Technology) และคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรม ทำให้เกิดเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ แรงงงานบางส่วนจึงถูกหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนที่
- การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Industry4.0) เป็นการนำเอาโลกของการผลิต มาเชื่อมต่อกับเครือข่ายในรูปแบบ IoT (Internet of Things) ซึ่งทำให้กระบวนการผลิตสินค้าเชื่อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล การนำสินค้าไปเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี รวมไปถึงการทำงานของแรงงานที่ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยให้งานผลิตสำเร็จได้รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น
เทคโนโลยีที่มาพร้อมกับยุคอุตสาหกรรม 4.0
มีเทคโนโลยีระดับสูงหลากหลายรูปแบบที่เคยถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแล้ว แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติครั้งที่ 4 เทคโนโลยีเหล่านี้จึงมาพร้อมกับความสามารถที่สูงมากขึ้นจากการใส่ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ทำให้สามารถดึงศักยภาพของกระบวนการผลิตและโซ่อุปทานได้มากขึ้นจากการทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์และมนุษย์
8 เทคโนโลยีที่มาพร้อมกับอุตสาหกรรม 4.0
1. Big Data and Advanced Analytics คลังข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลระดับสูง ที่ช่วยให้แต่ละอุตสาหกรรมสามารถนำเอาคลังข้อมูลขนาดใหญ่ที่เคยเก็บเอาไว้มาใช้งานเพื่อวิเคราะห์การทำงานและวางแผนระบบได้
2. Autonomous Robots หุ่นยนต์อัตโนมัติที่สามารถเรียนรู้การทำงานของมนุษย์และทำงานร่วมกับมนุษย์ ช่วยให้สามารถทำงานได้ปริมาณมากขึ้น ประหยัดเวลา และลดความผิดพลาดของการทำงานได้มากขึ้น
3. Simulation การสร้างแบบจำลอง เพื่อทดสอบและนำไปวางแผนปรับเปลี่ยนการตั้งค่าของเครื่องจักรให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
4. Horizontal and Vertical System Integration การเชื่อมโยงกระบวนการทางธุรกิจทั้งภายในและภายนอก ด้วยการปรับเปลี่ยนแนวคิดและแนวทางของธุรกิจโดยเน้นการสร้างคุณค่าและประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ
5. Industrial Internet of Thingsการทำงานร่วมกันของเครื่องจักร ผ่านระบบรวมศูนย์กลางการควบคุมไว้ที่เดียวกัน ช่วยให้สามารถวิเคราะห์การทำงาน การตัดสินใจ และโต้ตอบได้แบบเรียลไทม์
6. Cybersecurity เมื่อมีการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้ากับระบบอิเล็คทรอนิกส์ จึงจำเป็นต้องมีระบบความปลอดภัยสำหรับระบบการผลิตและสายการผลิต ให้มีความปลอดภัยและการสื่อสารที่น่าเชื่อถือ
7. Cloud การเชื่อมต่อคลังข้อมูลที่ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงได้ผ่านการการแชร์ในระบบ Cloud ที่สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา ช่วยให้รับรู้ข้อมูลการทำงานของเครื่องจักรกลที่อัปเดตอยู่เสมอ
8. Additive Manufacturing การผลิตสารเติมแต่งที่เดิมทีแล้วใช้กับระบบการพิมพ์ 3 มิติเพื่อสร้างโมเดล เมื่อก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 การผลิตสารเติมแต่ง ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ในการหาวัสดุทดแทนต่างๆ เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีน้ำหนักเบา แต่ยังคงคุณภาพและความแข็งแรงเอาไว้
การรับมือการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ในไทย
การปฏิวัติเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเปลี่ยนจากการใช้แรงงานในอุตสาหกรรม ไปสู่การใช้นวัตกรรม ซึ่งจะยังไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในทันที แต่จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามความพร้อมของแต่ละอุตสาหกรรม
สิ่งควรเตรียมรับมือให้พร้อม คือในเรื่องของแรงงานที่จะมีเทคโนโลยีเข้ามาทำงานทดแทนแรงงาน ทำให้การเตรียมพร้อมในทักษะของแรงงานจะต้องสอดคล้องไปกับการพัฒนาของเทคโนโลยีด้วย เพื่อให้สามารถพัฒนาฝีมือและแข่งขันกับตลาดแรงงานในต่างประเทศได้
โดยการเตรียมพร้อมคนกำลังจะเริ่มทำงานใหม่ และใส่ใจคนทำงานเดิม ผ่านทักษะแรงงานที่จำเป็นในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้แก่
- การคิดวิเคราะห์ การคิดเชิงลึก สังเคราะห์ข้อมูลที่หลากหลาย
- การแก้ไขปัญหา
- ความคิดสร้างสรรค์
- การทำงานร่วมกับสังคม
- วุฒิภาวะทางอารมณ์
ปฏิรูปตั้งแต่การผลิตแรงงานของสถานศึกษา
เมื่ออุตสาหกรรมในอนาคตกำลังจะเปลี่ยนไป สถานศึกษาต้องมุ่งสร้างแรงงานให้มีคุณสมบัติที่พร้อมกับการทำงานร่วมไปกับเทคโนโลยี ซึ่งได้แก่
1. เรียนรู้ใหม่ได้ตลอดชีวิต
การเรียนรู้จะไม่ใช่การเรียนจบแล้วออกไปทำงาน แต่ผู้ที่ออกมาทำงานแล้วจะต้องเรียนรู้และพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และต้องมีความรู้พื้นฐานที่เข้มแข็ง กล่าวคือต้องไม่หยุดที่จะเปิดรับการเรียนรู้สิ่งใหม่
2. มีความคิดสร้างสรรค์
สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ จากการได้ฝึกเป็นคนที่ช่างคิดวิเคราะห์ ชอบตั้งคำถาม รวมไปถึงแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์
3. เข้าใจการทำงานของเทคโนโลยี
ทุกสิ่งในยุค 4.0 ทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้ข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ นั้นถูกทำลายลง ซึ่งการเข้าใจระบบการทำงาน รวมถึงการเปิดรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอยู่เสมอเป็นสิ่งที่จำเป็น
4. ทักษะด้านอารมณ์และ Soft Skills
การพัฒนาทักษะให้สามารถทำงานร่วมกับสังคม รวมถึงการเข้าสังคมได้ดี นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาตนเองให้มองโลกในแง่บวก เพื่อให้สามารถทำงานได้ดีในโลกอุตสาหกรรมยุคใหม่
การก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่ไม่ใช่เพียงภาคอุตสาหกรรมและแรงงานที่ต้องเตรียมพร้อมเท่านั้น แต่ทางภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา สถานประกอบการ และประชาชน ก็ต้องมีทั้งความรู้ ทัศนคติ ทักษะที่ดี เพื่อพร้อมต่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคของเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยในอนาคตอันใกล้